วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พลังงานทางเลือกในอนาคต







ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือปัญหาที่ทุกคนต้องช่วยและร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ เพราะ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้น เช่น ไฟป่า แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม คลื่นความร้อน หรือพายุทอร์นาโด นับวันจะยิ่งส่งสัญญาณความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เหมือนเป็นการบ่งบอกและกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกเร่งใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากสภาวะ “โลกร้อน”

สำหรับประเทศไทยมีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น ซึ่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นส่วนหนึ่งให้เกิดส
ภาวะโลกร้อน ขณะที่การบริโภคพลังานของประเทศก็มีอัตราส่วนสูงขึ้นทุกปีปีละ 1,200 เมกะวัตต์ ดังนั้น ความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องหันมาใช้พลังงานทางเลือกใหม่ ๆ และการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น และจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ควบคู่กับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของโลกและประเทศไปด้วยกัน ซึ่งกระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการจัดหาและพัฒนาพลังงานของประเทศ ได้กำหนดแนวทางการจัดหาพลังงานเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อนไว้ 3 มาตรการ ได้แก่
1. การประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2. การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และ 3. การศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต
สำหรับแหล่งพลังงานที่มองเห็นได้เด่นชัด ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากที่จะเข้ามาเป็นพลังงานทางเลือกแทน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ คือ พลังงานจากถ่านหิน และ พลังงานนิวเคลียร์ โดยจะนำมาใช้ในรูปของ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์



พลังงานนิวเคลียร์ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ ทั้งนี้เทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวม 437 โรง รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเพิ่มอีกในทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเชีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกชื่อตามประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ต้นกำเนิดพลังงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะอาศัยพลังความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาการแตกตัวของธาตุยูเรเนียม แล้วนำไปใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำที่ใช้ในการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วโลกได้แก่ โรงไฟฟ้าแบบน้ำเดือด ( BWR) โรงไฟฟ้าแบบความดันสูง ( PWR ) และโรงไฟฟ้าแบบแคนดู ( CANDU) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตความร้อนจะไม่มีการเผาไหม้จึงตัดปัญหาเรื่องแก๊สพิษ ฝุ่นละออง และขี้เถ้า แต่เงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะสูงกว่าโรงไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เนื่องจากการระดมมาตรการความปลอดภัยสูงมาก อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยโดยเฉลี่ยถูกกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนชนิดอื่นๆ เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก
ส่วนถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ ปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงที่มีปริมาณสำรองจำนวนมาก และยังสามารถใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเข้ามาดูแลการก่อมลพิษ ซึ่งในความเป็นจริงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิด จะมีการปล่อยของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมัน แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีในการผลิตที่จะดูแลไม่ให้ของเสียนั้นสู่ชั้นบรรยากาศได้มาก การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้มาตรฐานจะเป็นการประกันความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้ค่า Ft ในการคำนวณค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่นำมาใช้มีระดับต่ำ นอกจากจะทำให้เราใช้ไฟฟ้าในราคาถูกลงแล้ว ยังช่วยให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันในเชิงต้นทุนการผลิตสินค้า และบริการในระยะยาวด้วย นั่นหมายถึงการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ การสร้างโรงไฟฟ้าไม่ว่าประเภทใดย่อมนำมาซึ่งการจ้างงานในท้องถิ่น อันจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนท้องถิ่นมากขึ้น


การหันมามองทางเลือกการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ จึงเป็นตัวเลือกที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยเหตุผลของถ่านหินที่มีปริมาณจำนวนมากทั่วโลก และราคาไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน และกำลังเป็นพลังงานใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ จึงมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีความมั่นคงไม่ผันผวนอีกด้วย