วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

มารู้จัก “โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในเอเชีย”




เรามารู้จัก “โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในเอเชีย” นับเป็นเวลาร่วม 60 ปีแล้วที่โลกรู้จักปรากฏการณ์ Fission ว่าเวลานิวเคลียสของยูเรเนียม 235 รับอนุภาคนิวตรอนเข้าไปจะแบ่งแยกตัว และมีพลังงานปริมาณมหาศาลเกิดขึ้นซึ่งพลังงานนี้สามารถนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อถึงวันนี้โลกมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้รวมทั้งสิ้น 441 เตา



ทั้งๆ ที่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้สูงมาก และภัยอันตรายจากกัมมันตรังสีก็รุนแรง แต่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียก็กำลังก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม เช่น อินเดียกำลังก่อสร้างอีก 8 โรง จีนอีก 2 โรง ไต้หวันอีก 2 โรง ญี่ปุ่นอีก 3 โรง และปากีสถานอีก 1 โรง ทั้งนี้เพราะความต้องการไฟฟ้าของประชากรเอเชียกำลังเพิ่มตลอดเวลา และผู้คนเอเชียมีความคิดว่า ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งมีบทบาทในการทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก อีกทั้งราคาน้ำมันและก๊าซก็มีแนวโน้มจะเพิ่มตลอดเวลา ดังนั้น คนหลายคนจึงมีความหวังจะพึ่งพาโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการ และนี่ก็คือเหตุผลที่ว่า เหตุใดเอเชียจึงกำลังสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 16 โรง



จีนมิได้เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ต้องการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่ม เมื่อ 3 ปีก่อนนี้ ญี่ปุ่นซึ่งใช้ไฟฟ้า 25.5% จากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ มีแผนในปี พ.ศ. 2556 จะผลิตไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มเป็น 40.4% ณ วันนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นจัดสร้างใหม่ 3 โรง กำลังจะเสร็จและอีก 12 โรง กำลังอยู่ในขั้นเตรียมการ ส่วนอินเดียนั้นก็กำลังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 8 โรง และเกาหลีก็กำลังวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 8 โรงเช่นกัน นอกจากปัญหาด้านการก่อสร้างที่ต้องการความรู้ ความสามารถ เงินทุน และความรับผิดชอบเรื่องภัยอันตรายจากกัมมันตรังสีรั่วไหลแล้ว ปัญหากากกัมมันตรังสีก็เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งภัยนี้นับเป็นภัยที่รุนแรง และเป็นพิษยาวนาน และสำหรับวิธีการแก้ปัญหานั้น ทุกคนก็มีความเห็นแนวเดียวกันว่า ต้องขุดหลุมลึกเพื่อเก็บกากกัมมันตรังสีในภาชนะที่แข็งแรง และทนทาน จากนั้นก็ภาวนาว่า แผ่นดินบริเวณนั้น ไม่แตกแยกเป็นเวลานานหมื่นปี หากทำเช่นนี้ได้ผู้คนในประเทศก็จะปลอดภัย




http://ecurriculum.mv.ac.th/science/library_sci/nanotec/ViewNews.aspx-NewsID=9490000023643.htm